Feature news

คลีนฟู้ด อีกมิติของการกินเพื่อสุขภาพ


        ช่วงนี้กระแสนิยมของ “คนรักสุขภาพ” กำลังมาแรง ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายแบบ 25 นาที หรือแม้กระทั่งการกินอาหารแบบคลีนๆ (Clean Food) ที่หลายคนรู้จักและเรียกกันจนติดปาก
 
          อ.สง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ และผู้จัดการโครงการโภชนาการสมวัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อธิบายว่า “คลีนฟู้ด” (Clean Food) เป็นคำเรียกที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้ผู้คนได้เกิดความตระหนักว่า “การ กินอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ มีความปลอดภัย ไม่มีสารปนเปื้อน และกินอย่างเพียงพอ ครบ 5 หมู่ ควบคู่กับการออกกำลังกาย คือ การนำมาซึ่งสุขภาพที่ดี เพราะการออกกำลังกายเพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงอาหารการกินนั้นไม่เป็น ผล”

          “อย่างที่บอกย้ำเสมอว่า การกินอาหารควบคู่กับการออกกำลังกาย บวกกับการควบคุมอารมณ์ ไม่หมกมุ่น ไม่เกิดความกังวล หาทางสลัดความเครียดออกจากตัวเองให้เร็ว เลี่ยงเหล้าและบุหรี่ตามหลัก 3 อ 2 ส (อาหาร อารมณ์ ออกกำลังกาย ไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่) คือสิ่งที่ทุกคนที่รักสุขภาพจะต้องยึดเหนี่ยว”
  
          สำหรับคลีนฟู้ด อ.สง่าบอกว่า มีความหมายอยู่ 2 นัยยะ คือ “อาหารที่ไม่ปนเปื้อน” หมายถึง กินเข้าไปแล้ว มีประโยชน์และไม่เป็นพิษต่อร่างกาย ซึ่งการปนปื้อนก็มีอยู่ 3 ทางด้วยกัน คือ “ปนเปื้อนเชื้อโรค” มีเชื้อจุลินทรีย์เข้าไปปะปนในอาหาร ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ไม่สุก อาหารที่ค้างคืน มีแมลงวันตอม ปรุงไม่สะอาด ก็นำมาซึ่งอาการท้องเดินได้ ต่อมา “ปนเปื้อนจากพยาธิ” เช่น การกินอาหารที่สุกๆ ดิบๆ การกินอาหารที่ไม่ระมัดระวังเรื่องความสะอาดก็มีการปนเปื้อนพยาธิได้ และสุดท้าย “ปนเปื้อนสารเคมี” เช่น กินผักที่ไม่ได้ล้างหรือล้างไม่สะอาด มียาฆ่าแมลงปะปนอยู่ อาหารที่ใส่สีแต่ไม่ใช่สีผสมอาหาร อาหารที่มีพิษ เช่น เห็ดพิษ น้ำมันทอดซ้ำ ถั่วลิสงที่มีอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) เป็นต้น

          “ส่วนนัยยะที่สอง คือ "อาหารที่ถูกหลักโภชนาการ" อาจารย์ จึงอยากจะยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า การตั้งคำถามว่าเราจะกินอาหารอย่างไรให้ครบ 5 หมู่ และต้องกินให้ได้สัดส่วน ปริมาณที่เพียงพอไม่มากน้อยจนเกินไป รวมถึงมีความหลากหลาย เลี่ยงอาหารหวานจัด เค็มจัด มันจัด สุดท้ายกินผักผลไม้ให้มาก ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงคือ การกินอาหารให้ถูกหลักโภชนาการในแบบที่ตรงกับคำว่าคลีนฟู้ด เพราะฉะนั้นคำว่าคลีนฟู้ดก็คือ คำว่า อาหารปลอดภัยไม่ปนเปื้อน อาหารถูกหลักโภชนาการนั่นเอง”

          ทำความเข้าใจเรื่อง “อาหารถูกหลักโภชนาการ”
          อาจารย์สง่าบอกเพิ่มเติมว่า คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจคำว่าอาหาร 5 หมู่ เพียงแค่พูดกันจนติดปาก ซึ่งหากจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือการคำนึงถึงสิ่งที่เราจะกินในแต่ละมื้อ หมู่ที่ 1 เนื้อสัตว์ มีโปรตีน หมู่ที่ 2 ข้าว แป้ง คาร์โบไฮเดรต หมู่ที่ 3 เกลือแร่และแร่ธาตุ หมู่ที่ 4 ผักผลไม้ที่มีวิตามิน และหมู่ที่ 5 ไขมัน คนมักจะท่องแล้วก็จบไม่ได้สังเกตว่าเรากินแต่ละมื้อครบหรือเปล่า...

         “มีวิธีสังเกตง่ายนิดเดียว ยกตัวอย่างเช่น เรากินก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม แล้วก็กินส้มเขียวหวาน 1 ลูก  เราได้คาร์โบไฮเดรตจากเส้นก๋วยเตี๋ยว โปรตีนจากลูกชิ้นหรือหมูสับ วิตามินแร่ธาตุจากผัก เช่น ถั่วงอกหรือผักอื่นๆ และไขมันจากกระเทียมเจียว สุดท้ายก็กินผลไม้ แต่ในทางตรงกันข้าม เวลาที่เร่งรีบกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปลวกน้ำร้อนก็ได้แค่คาร์โบไฮเดรต หรือกาแฟกับปาท๋องโก๋ ก็ได้แค่ 2 หมู่ แป้งกับน้ำมัน เพราะฉะนั้นการกินอาหารหลัก 5 หมู่ ต้องกินครบให้ได้ทุกมื้อ ส่วนมากเราจะขาดผลไม้ ซึ่งถ้าเราขาดผลไม้ในอาหารมื้อหลัก เราก็อาจจะทดแทนในช่วงอาหารว่างบ้างก็ได้”

       แล้วจะกินอาหารก่อนหรือหลังออกกำลังกาย?
         ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการเพิ่มเติมว่า ตามหลักแล้วถ้าเราจะออกกำลังกาย เราจะต้องไม่กินอาหารมื้อหนัก ล่วงหน้าประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง แต่ถ้ากินอาหารมื้อหนักไปแล้ว ห่างมาสัก 2- 3 ชั่วโมง ก็สามารถออกกำลังกายเบาๆ ได้ ในทางตรงกันข้ามถ้าเราออกกำลังกายเสร็จแล้วเราไปกินมื้อหนักเป็นโอกาสที่เรา จะอ้วนสูงมาก เพราะฉะนั้นการออกกำลังกายในช่วงเช้าคือช่วงเวลาทีดีที่สุด เพราะเป็นช่วงที่ยังไม่ได้รับประทานอาหาร เมื่อเราไปออกกำลังกายใช้พลังงานจะทำให้การเผาผลาญดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าออกกำลังกายช่วงเย็นไม่ดี คือสรุปแล้วให้เดินทางสายกลาง ถ้าสะดวกช่วงเช้าก็ออกกำลังกายช่วงเช้าตลอด หรือถ้าสะดวกช่วงเย็นก็ออกกำลังกายช่วงเย็น
 
          “ถ้าออกกำลังกายแล้วรู้สึกเพลียๆ แล้วโหย สำคัญที่สุดคือ การดื่มน้ำเปล่าสะอาด ไม่ใช่น้ำอัดลมหรือน้ำหวาน เพราะอุตส่าห์เบิร์นออกแล้วยังไปเอาพลังงานส่วนเกินเข้าไปอีกจะน่าเสียดาย มาก หรือถ้าเป็นเครื่องดื่มจะดื่มนมพร่องมันเนยรสจืดหรือนมรสธรรมชาติก็ได้ แต่ถ้าจะเป็นอาหารที่หนักขึ้นมาหน่อยแนะนำเป็นผลไม้ที่ไม่หวาน แต่ไม่แนะนำอาหารมื้อหนัก เพราะหลังออกกำลังกายมากินอาหารแล้วเข้านอน การเผาผลาญจะลดลงนั่นเอง” ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการกล่าว

          ไม่ว่ากระแสการออก กำลังกายหรือการกินอาหารแบบคลีนๆ ที่แพร่หลายในขณะนี้จะเป็นเพียงเรื่องฮิตที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็เป็นเรื่องน่ายินดีว่า “คนไทย” หันมาใส่ใจสุขภาพและดูแลเรื่องอาหารการกินเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง


          เรื่องโดย : ภาวิณี เทพคำราม Team Content www.thaihealth.or.th
          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
Learn more »

กินคลีน เทรนด์ใหม่คนรักสุขภาพ


       ในหมู่ของคนรักสุขภาพเดี๋ยวนี้ มักจะพูดถึงการกินคลีน อยู่เสมอ ซึ่งหลายๆ คนฟังแล้วอาจไม่เข้าใจว่าการกินคลีนนั้นคืออะไร แล้วดีอย่างไร และถ้าหากพูดถึงการมีสุขภาพดี แน่นอนว่าไม่ได้หมายถึงแค่การออกกำลังกายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่กลับรวมถึงการเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพด้วย 
 
         วันนี้เราเลยถือโอกาสแนะนำให้รู้จักกัน

         Eat Clean มี ที่มาจากการเลือกรับประทานอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงแต่ง หรือผ่านกรรมวิธีการปรุงให้น้อยที่สุดอย่างผักสด ผลไม้สด เนื้อสัตว์ที่ผ่านการปรุงสุกแต่ไม่ปรุงแต่งรสชาติ ธัญพืช เป็นต้น โดยส่วนใหญ่การกินคลีนมักเป็นอาหารที่เราปรุงเอง เป็นเมนูง่ายๆ ที่บ้าน ซึ่งก็มีหลายๆ คนที่สงสัยในเรื่องของรสชาติ ว่าอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงแต่งจะอร่อยได้อย่างไร จริงๆ แล้วเราสามารถปรุงเมนูคลีนให้ได้รสชาติอร่อยจากการดึงเอารสชาติในแต่ละวัตถุ ดิบมารวมเข้าไว้ด้วยกันโดยไม่ต้องพึ่งเครื่องปรุง

         อย่างการปรุง 1 เมนูคลีนๆ ให้อร่อยครบ 5 หมู่ เราอาจเลือกเนื้อไก่ต้มฉีกฝอยมาปรุงเข้ากับผักสดๆ เพิ่มรสชาติความอร่อยทั้งเปรี้ยวและหวานจากผลไม้ลงไปอย่างแอปเปิลเขียว มะม่วงสุก ราดด้วยน้ำมันมะกอกต่างน้ำสลัดซึ่งการปรุงนั้นไม่มกฎตายตัว สามารถครีเอทเมนูอร่อยในแบบฉบับของตัวเองได้ นับ่วาเป็นเรื่องสนุกที่จินตนาการถึงรสชาติความอร่อยที่ได้ปรุงขึ้น

         กินคลีนแล้วดีอย่างไร อาหารที่ผ่านขั้นตอนการปรุงไม่ว่าจะผัด ทอด ตุ๋น ต้ม อบทั้งหลาย ทำให้คุณค่าทางสารอาหารลดลง บางคร้งยังปรุงแต่งไปด้วยเครื่องปรุงต่างๆไม่ว่าจะเป็นผงชูรส เกลือ น้ำตาล พริกป่น รวมถึงสารตกค้างที่ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว การกินคลีนจึงเหมือนกับการได้ดีท็อกซ์ลำไส้ และมีประโยชน์สำหรับคนที่ต้องการลดน้ำหนัก ท้งยังส่งผลดีต่อสุขภาพในระยะยาวอีกด้วย

         นอกจากการเลือกรับประทานแล้ว สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้มีสุขภาพดี ต้องอย่าลืมออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอควบคู่ไปด้วย สุขภาพที่ดีก็จะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

         
         ที่มา : หนังสือพิมพ์ M2F
         ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
Learn more »

กินชะลอวัย ไกลโรค ด้วยอาหารคลีน


         อาหารคลีน (Clean Food) เป็นอาหารที่ผ่านกระบวนการและการปรุงแต่งน้อยที่สุด หรือไม่ปรุงแต่งเลยยิ่งดีเพราะจะได้มีสัมผัสจากธรรมชาติมากที่สุด

         หลักในการจัดอาหารคลีน มีดังนี้
         - ขัดสีให้น้อยที่สุด เช่น ข้าวก็ไม่เลือกที่ขัดจนเป็นข้าวสวยขาว ส่วนขนมปังก็ไม่เลือกแบบเนื้อนุ่มขาวจั๊วน่าอร่อย  หรือขนมแป้งขัดขาวก็ให้เลี่ยงอย่างโดนัท, คุกกี้และเบเกอรี่อื่นๆ
         - ปรุงแต่งเท่าที่จำเป็น เช่น เลี่ยงการใช้น้ำมันทอดหรือผัดจนท่วม แต่อาจเติมน้ำสลัดจากน้ำมันธรรมชาติได้  ไม่ปรุงน้ำตาล, น้ำปลา, เกลือหรือเติมรสจัดจนทำให้รสผิดไปจากธรรมชาติมากไป

         เทคนิคที่ผู้เชี่ยวชาญท่านแนะเอาไว้โดยละเอียด 7 ประการ มีดังนี้

       - อาหารเช้าขาดไม่ได้ (ภายใน 1 ชั่วโมงหลังลืมตาตื่น)
         - แบ่งมื้ออาหารรับประทานเป็นมื้อย่อย เช่น 4 หรือ 6 มื้อต่อวัน
         - เลือกบริโภคโปรตีนแบบ “ไม่ติดมัน” และคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (เช่น ข้าวกล้อง, ขนมปังโฮลวีต) ทุกมื้อ
         - รับประทานไขมันดีทุกวัน เช่น น้ำมันปลา, ปลาทู, น้ำมันมะกอก, น้ำมันสุขภาพอื่นๆ
         - คุมส่วนของอาหาร (portion) ให้ดี ไม่ควรเลือกไซส์ใหญ่หรือรับประทานอเมริกันไซส์
         - รับประทานไฟเบอร์, วิตามิน, สารอาหารและเอ็นไซม์จากผักสดและผลไม้
         - สำคัญที่ดื่ม “น้ำเปล่า” ให้ได้วันละ 2-3 ลิตร

         ส่วนของกินที่ควร “เลี่ยง” นั้นมีในกลุ่มต่อไปนี้
         - แป้งขัดขาว อย่าง แป้งข้าวสาลี, ขนมปังขาว, ปาท่องโก๋, เค้ก, คุกกี้, เบเกอรี่และอาหารที่ทำจากแป้งหรือน้ำตาล น้ำหวาน รวมถึงน้ำตาลเทียม เครื่องดื่มหวานทุกชนิดควรเลี่ยง อย่าง กาแฟชงสำเร็จ, กาแฟทรีอินวัน, ชาเขียวรสหวาน, น้ำอัดลม, น้ำหวานหรือแม้แต่น้ำผลไม้
         - แอลกอฮอล์ทุกประเภท ไม่ว่าจะไวน์, เหล้า, เบียร์, ยาดอง,กระแช่, สาโท หรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ อย่างค็อกเทล
         - ไส้กรอก รวมถึงแฮม, เบค่อน, กุนเชียง, หมูสวรรค์, หมูแผ่น เพราะอาหารแปรรูปเหล่านี้ มักใส่ “ไนไตรต์” ซึ่งเป็นกลุ่มดินประสิวให้เนื้อแดงน่ากิน
         - ผงชูรสและซุปก้อน ควรเลี่ยงถ้าเป็นไปได้ ทางเลี่ยงง่ายๆ คือระวัง “น้ำซุป” ทั้งหลายเพราะมักใส่ผงชูรสและซุปปรุงรส เช่น ในก๋วยเตี๋ยวน้ำ, แกงจืด, ต้มยำ, อาหารจีนโดยเฉพาะที่รับประทานนอกบ้าน
         - อาหารสังเคราะห์ เช่น อาหารไมโครเวฟ, บะหมี่สำเร็จรูป, อาหารกระป๋องบางชนิด, ไอศกรีมปรุงแต่งรส, ครีมเทียมใส่กาแฟ, เนยเทียม, เยลลี่หลากสี หรือโพรเซสชีส
         - ของทอดของมัน เพราะไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ ซึ่งเป็น “ไขมันผู้ร้าย” จะมีอยู่มากในอาหารกลุ่มนี้ เช่น ไก่ทอดน้ำมันท่วม, เฟรนช์ฟราย, อาหารชุบแป้งและเกล็ดขนมปังทอด

         ทั้งหมดนี้คืออาหารที่ “ไม่คลีน” ในแง่ของการปรุงแต่งรส ผ่านกระบวนการขัดสีและเป็นอาหารหมักดอง ซึ่งถ้ารับประทานนานเข้าจะส่งผลให้ “อ้วน” และ “แก่เร็ว” จาก สารเคมีสังเคราะห์ทั้งหลาย  การรับประทานอาหารคลีนคือการรับประทานที่ใกล้ธรรมชาติที่สุด จะช่วยหยุดโรคอ้วนและสุขภาพเสื่อมแบบเร่งด่วนได้

       คลีนฟู้ดกับ 5 สูตรเนรมิตสุขภาพดี
         หากจะหาอาหารที่เข้าข่ายคลีนนั้น ไม่ยากอย่างที่คิด เพราะมีอยู่ในอาหารแบบไทยๆ เราเป็นส่วนใหญ่  ดังจะขอฝากตัวอย่างไว้ให้ชาวคนสู้โรค ได้ลองชิมกันดู ขอเน้นแบบที่ “ทำง่าย” และประหยัดเวลานะครับ เพื่อให้สะดวกกับหลายๆ ท่าน

         ข้าวแกงกะหรี่ไก่คลีน เพื่อให้ท่านสะดวกสุด ขอให้ใช้ “ก้อนแกงกะหรี่สำเร็จรูป” แบบของญี่ปุ่นใส่ลงไป ใส่ผักอย่าง มันฝรั่ง, หัวหอมใหญ่และแอปเปิ้ลหั่นลงไป ใช้อกไก่เป็นโปรตีนหลัก รับประทานกับข้าวกล้องร้อนๆ แสนอร่อย

         น้ำพริกทูน่าคลีน แทนที่จะใช้ปลาทูทอดที่ต้องมีน้ำมันท่วมก็ใช้ “ทูน่ากระป๋อง” แทน อนุโลมให้เป็นอาหารคลีนได้ ให้ตำน้ำพริกแบบทั่วไปแต่ “ไม่เค็มจัด” โขลกพริก, กระเทียม, หอมเติมไป ใส่เกลือไอโอดีนแทนน้ำปลาและกะปิ แล้วรับประทานกับผักลวก หรือนึ่ง

         สลัดไข่คลีน เหมือนสลัดไข่ทั่วไปเพราะไข่ถือเป็นอาหารคลีน จะเป็นไข่ต้ม, ไข่อบหรือไข่ปิ้งก็ได้ ใส่กับผักสดตามชอบ ที่แนะนำคือ บร็อคโคลีและมะเขือเทศ ส่วนน้ำสลัดขอให้เป็นน้ำใสหรือน้ำมันมะกอกแทนน้ำข้น รับรองว่าไขมันลดแต่อร่อยเพิ่ม

         สเต็กคลีน ใช้การอบแทนการทอด ใช้การย่างได้ โดยเลือกเนื้อไม่ติดมัน เช่น อกไก่คลีน สันในหมูคลีน พอร์คช็อปคลีน ปรุงรสได้โดยใช้พริกไทย, กระเทียมผงและใส่เกลือให้น้อย รับประทานกับผักย่างและข้าวกล้องเป็นไซด์ดิช แทนมันฝรั่งทอด เป็นสุดยอดอาหารสร้างกล้ามเนื้อ

         ไข่พะโล้คลีน สามารถดัดแปลงพะโล้ให้เป็นอาหาร คลีนแสนอร่อยแถมเก็บไว้กินนานได้ ด้วยวิธีง่าย ๆ คือใช้ผงพะโลสำเร็จได้  แต่ขอให้เลือกชนิดที่เป็น “เครื่องเทศล้วน” อย่ามีผงชูรส หรือน้ำตาลปนเข้ามา แล้วก็หาเนื้อหมูหรือไก่แบบไม่ติดมัน มาใส่เพิ่มในพะโล้ก็ได้  โดยเน้นว่า ไม่เติมเค็มเกินไปจากซีอิ๊ว

         ทั้งหมดนี้เป็นเพียงโหมโรงของอาหารคลีนบาง ส่วนเท่านั้น เพราะเชื่อว่าทุกท่านที่อ่านอยู่สามารถทำได้หลากหลายกว่าที่ผมแนะนำ  ยกตัวอย่างว่าอาจต่อยอดสเต็กคลีนเป็นหมูปิ้งคลีน, สเต็กปลาดอรี่คลีน หรือปลานึ่งซีอิ๊วคลีนก็ยังได้  หรือถ้าเบื่อสลัดเพราะเคี้ยวจนกรามยืด ก็เปลี่ยนเป็น “สุกี้คลีน” ใส่ผักรวมไม่ใส่วุ้นเส้นแล้วผัดใส่เต้าหู้ยี้น้อยๆ ปรุงรสด้วยเกลือทะเลแทน จะได้ไอโอดีนเพิ่ม เพียงเท่านี้ท่านก็จะได้อาหารคลีนแสนถูกปาก แถมสะดวกด้วยเพราะแม้ตามร้านอาหารตามสั่งก็ทำได้

         ท่านสามารถทำให้ทุกจานที่เคยรับประทาน “คลีน” ได้หมดโดยไม่ต้องอดอร่อย กินคลีนบ่อย ๆ อร่อยแถมได้สุขภาพดีด้วย

         ที่มา :  เว็บไซต์ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดย นพ.กฤษดา ศิรามพุช ,พบ.(จุฬาฯ) ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ (American Board of Anti-aging medicine) และขอขอบคุณข้อมูลจาก คนสู้โรค ไทยพีบีเอส

          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
Learn more »

พบแบคทีเรียในผักสด แนะล้างให้สะอาด


      พบแบคทีเรียในผักสด ใบเรี่ยดินเปื้อนเชื้อ แนะล้างสะอาด
 
          น.ส.พฤกษวรรณ เจตนจันทร์ นักเทคนิคการแพทย์ชำนาญการพิเศษ ฝ่ายจุลทรรศน์อิเล็กตรอน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นำ เสนอการตรวจวิเคราะห์แบคทีเรียที่ปนเปื้อนอยู่บนผักสด ด้วยเทคนิคจุลทรรศน์อิเล็กตรอน ในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ครั้งที่ 22 ว่า เนื่องจากผักหลายชนิดที่นิยมรับประทานสด เป็นพืชที่มีลักษณะลำต้นและใบเรี่ยติดผิวดิน หรือผิวน้ำ จึงมีโอกาสปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ได้ง่าย อาจก่อโรคในระบบทางเดินอาหารได้ การวิเคราะห์จึงตรวจหาแบคทีเรีย ที่อยู่ตามส่วนต่างๆ ของผักสด 5 ชนิด คือ ผักบุ้ง ผักกระเฉด ผักชี ผักกาดหอม และบัวบก จากพื้นที่ จ.นนทบุรี

          น.ส.พฤกษวรรณกล่าวต่อว่า การวิเคราะห์หาเชื้อแบคทีเรียบนผักสด ใช้เทคนิคจุลทรรศน์อิเล็กตรอนชนิดลำแสงส่องกราด ซึ่งเป็นเทคนิคพิเศษ กำลังขยายภาพสูงมาก จนมองเห็นเซลล์แบคทีเรีย จากการวิเคราะห์พบว่าการใช้เทคนิคกล้องจุลทรรศน์ พบวัตถุที่มีขนาดและรูปร่างที่ใกล้เคียงกับเซลล์แบคทีเรียชนิดแท่ง หมายความว่าผักใบเรี่ยดินนี้ปนเปื้อนแบคทีเรียได้ง่าย

          น.ส.พฤกษวรรณกล่าวว่า การศึกษาดังกล่าวเพื่อแจ้งเตือนภัยสุขภาพ แก่ผู้บริโภคที่นิยมรับประทานผักสด เพราะถ้าปนเปื้อนแบคทีเรีย ที่ก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร อาจทำให้เกิดความเจ็บป่วยตามมา ซึ่งแบคทีเรียนั้นจะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า การยืนยันว่ามีแบคทีเรียอยู่จริง จะช่วยให้ผู้บริโภคตระหนักถึงการปนเปื้อนที่อาจได้รับ และสามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการล้างผักสดให้สะอาด โดยวิธีที่แนะนำ เช่น แช่น้ำด่างทับทิม และล้างให้ผ่านน้ำหลายๆ ครั้ง ก็จะช่วยลดโรคที่เกิดในระบบทางเดินอาหารจากเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้ได้

          ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
Learn more »

กินผัก-ผลไม้ อิ่มสารอาหารหรืออิ่มสารพิษ?

          ผัก ผลไม้ ที่เราซื้อมานั้น จะแน่ใจได้อย่างไรว่าปลอดภัย จากสารเคมีตกค้าง มารู้จักสารพิษที่ตกค้างในผัก และวิธีการล้างผักเพื่อลดสารเคมีกันเถอะ



          ที่มา : เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thailand Pesticide Alert Network: Thai-PAN)
Learn more »

กินผักตำลึง ช่วยรักษาโรคเบาหวาน

แนะประชาชนกินตำลึง เพราะมีประโยชน์ในการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ อย่างการช่วยรักษาโรคเบาหวาน

          นางฉวีวรรณ ชมภูเขา นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าว ว่า ตำลึง หรือที่ชาวอีสานส่วนใหญ่เรียกว่า ผักดำเนิน นอกจากรับประทานเป็นผักใช้ประกอบอาหารได้แล้ว ตำลึงยังมีประโยชน์ในแง่การป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้อีกด้วย เช่น ใช้ผักตำลึงช่วยรักษาโรคเบาหวาน โดยใช้เถาแก่ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ หรือจะใช้น้ำคั้นจากผลดิบ ดื่มวันละ 2 รอบ เช้า - เย็น จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มระดับอินซูลิน และตำลึงยังช่วยบำรุงเลือดและป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดได้อีกด้วย

          นางฉวีวรรณ ชมภูเขา กล่าวต่อไป ว่าตำลึงเป็นพืชที่มีอยู่ทั่วไป ทั้งเกิดตามธรรมชาติ ตามเรือกสวนและยังปลูกง่าย การบริโภคตำลึงเป็นอาหารไม่ว่าจะประกอบอาหารประเภท นึ่ง ลวก หรือแกงกับเนื้อสัตว์อื่นๆ ล้วนได้ประโยชน์ทั้งทางยาและโภชนาการด้วยกันทั้งสิ้น


          ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
Learn more »

พบสารต้องห้ามในส้ม สาลี่ เกษตรฯ


          กรมวิชาการเกษตร พบตัวอย่างผักและผลไม้สดมีปริมาณสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน MRL ที่ประเทศไทยกำหนดพบสารพิษตกค้างร้อยละ 19.37

          นายดำรง จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิด เผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายให้สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช ตรวจสอบคุณภาพสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ สดนำเข้าผ่านด่านตรวจพืชภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก โดยสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าผักและผลไม้สดจากด่านตรวจพืชเชียงของ ด่านตรวจพืชเชียงแสน ด่านตรวจพืชแม่สาย ด่านตรวจพืชลาดกระบัง ด่านตรวจพืชแหลมฉบัง และด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพ มา ตรวจวิเคราะห์พบว่า ในสินค้าผักสดตรวจพบสารพิษตกค้างร้อยละ 19.37 โดยเฉพาะผักกาดฮ่องเต้ ตรวจพบสารพิษตกค้างสูงที่สุดถึงร้อยละ 80.00 ส่วนตัวอย่างผลไม้สดพบว่า ส้มตรวจพบสารพิษตกค้างสูงที่สุดถึงร้อยละ 83.33

          นอกจากนั้น ยังพบตัวอย่างผักและผลไม้สดมีปริมาณสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน MRL ที่ประเทศไทยกำหนด ได้แก่ ถั่วลันเตาหวานและถั่วลันเตา พบสาร cypermethin ปริมาณสูงสุดที่พบ คือ 0.16 และ 0.10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เกินมาตรฐาน MRL ที่ไทยกำหนดไว้ 0.05 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบสาร L-cyhalothin ในผักกาดฮ่องเต้ 0.63 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งไทยกำหนดไว้ 0.20 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ พบสาร ethion ในส้มถึง 1.53 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งไทยกำหนดไว้ 1.00 มิลลิกรัม/กิโลกรัม รวมทั้งตรวจพบสาร methidathion ในส้ม พบสาร endosulfan ในสาลี่ ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ห้ามใช้ในประเทศไทยด้วย

          ทั้งนี้แนวโน้มพืชกลุ่มเสี่ยงที่ตรวจพบสารพิษตกค้างมาก คือ ผักกาดขาว ผักกาด ฮ่องเต้ แก้วมังกร ทับทิม บร็อคโคลี่ ที่นำเข้าทางด่านตรวจพืชลาดกระบังและด่านเชียงของ ขณะที่ส้มและแอปเปิ้ลนำเข้าทางด่านตรวจพืชแม่สายและด่านลาดกระบัง ตรวจพบสารตกค้างและมีแนวโน้มของสารตกค้างเพิ่มมากขึ้น จึงต้องมีการตรวจสอบและควบคุมการนำเข้าผักและผลไม้สดของด่านตรวจพืชต่างๆ เข้มงวดมากยิ่งขึ้น

         "กรมวิชาการเกษตร จะนำข้อมูลที่ได้รับไปเตือนประเทศคู่ค้า เช่น จีน พร้อมเฝ้าระวังพืชกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มในการพบสารพิษตกค้างเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามผู้บริโภค ควรระมัดระวังในการซื้อผักและผลไม้สดนำเข้ามาบริโภค หรือก่อนที่จะบริโภคต้องล้างผักและผลไม้ให้สะอาดหรือกระทั่งมั่นใจว่า ปราศจากสารเคมีตกค้าง เพื่อป้องกันการสะสมสารพิษในร่างกาย" นายดำรง กล่าว

          ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า
          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
Learn more »

ข้อแนะนำสำหรับ นักวิ่งใหม่


           สำหรับนักวิ่งใหม่ การเตรียมความพร้อมก่อนการหัดวิ่ง เป็นเรื่องสำคัญ ควรตรวจเช็คสุขภาพเบื้องต้น เพื่อให้ทราบถึงข้อจำกัดและขีดความสามารถในการเริ่มออกกำลังกาย

          การเตรียมความพร้อม
1. ใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมกับโครงสร้างทางสรีรวิทยาและประเภทของการวิ่ง
2. ศึกษาลำดับขั้นตอนที่ถูกต้องเพื่อให้การวิ่งเป็นไปด้วยความสนุกสนานและมีความสุข
3. วิ่งตามกำลังความสามารถในต้นทุนของร่างกายที่มีอยู่ ไม่ควรใจร้อนและหักโหมหรือวิ่งตามภาวะรอบข้าง
4. เมื่อรู้สึกถึงอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นเช่น หน้ามืด ใจสั่น เวียนศีรษะ ตาลายหรือมีอาการบาดเจ็บควรหยุดพักทันที
5. พึงท่องอยู่เสมอว่า วิ่งเป็นการออกกำลังกายแบบง่ายๆ ที่ใครๆ ที่เดินได้ก็วิ่งได้
6. วิ่งเป็นการออกกำลังกายที่เห็นสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ถ้ามีการปฏิบัติที่ถูกต้องและสม่ำเสมอ
7. วิ่งเป็นการออกกำลังกายที่สร้างสัมพันธภาพที่ง่ายและสร้างเสริมสังคมที่ดี
8. เมื่อเกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อตัวเอง ควรแนะนำกับคนรอบข้างให้เห็นถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการวิ่ง
9. รักครอบครัว รักเพื่อน รักคนรอบข้าง ต้องชวนให้ทุกคนมาวิ่งออกกำลังกายเพื่อช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดี

          ก่อนการวิ่ง
1. ไม่ควรรับประทานอาหารมื้อหนักในช่วง 2 ชม.ก่อนการวิ่ง
2. ดื่มน้ำสะอาดก่อนการออกวิ่ง 30 นาที 1 - 2 แก้ว ประมาณ 100 - 200 cc.
3. ค่อยๆเพิ่มอุณหภูมิให้กับร่างกาย โดยการเดินสลับวิ่งเหยาะๆ เพื่อให้อวัยวะต่างๆที่จะต้องรับกับการทำงานที่เพิ่มขึ้นเช่น หัวใจ ปอด กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อต่อต่างๆมีการเตรียมตัว เพิ่มความยืดหยุ่นมีความคล่องตัวกระฉับกระเฉง
4. เมื่อรู้สึกร้อน เหงื่อซึมเล็กน้อย มีความรู้สึกกระฉับกระเฉงขึ้น เริ่มเล่นกายบริหารในท่าง่ายๆสมัยเด็กๆ เช่น หมุนแขน หมุนไหล่ หมุนเอว บริหารข้อเท้า ข้อเข่า ยืดเหยียดส่วนหลัง ลำตัว แขน ขาอย่างช้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในการเคลื่อนไหวและป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้
5. เริ่มออกเดินและวิ่งตามโปรแกรมที่ถูกออกแบบขึ้นมาอย่างเหมาะสม

          ขณะวิ่ง
1. หลีกเลี่ยงการวิ่งในที่มีแสงแดดจัด พยายามวิ่งในที่ร่มและที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี
2. สวมใส่ชุดหรือเสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี ไม่คับหรือหลวมเกินไปหรือเป็นชุดหนาและอบความร้อน
3. จิบน้ำทีละนิด บ่อยๆตามต้องการ หรือทุก 10 - 15 นาทีในขณะที่วิ่ง อย่ารอจนรู้สึกกระหายน้ำ
4. ถ้ามีอาการหน้ามืด ใจสั่น ตาลาย เจ็บหน้าอก ควรหยุดวิ่งและนอนราบกับพื้นในที่ร่มและมีอากาศถ่ายเทได้ดี
5. วิ่งในท่าทางที่สบาย ไม่เกร็ง ให้เป็นธรรมชาติของตัวเองมากที่สุด หายใจด้วยจังหวะที่รู้สึกถึงความสบายและผ่อนคลาย
6. อย่าฝืนวิ่งเมื่อรู้สึกถึงอาการเจ็บ อ่อนเพลียหรือเมื่อยล้า
7. วิ่งในสถานที่ปลอดภัย ไม่เปลี่ยว พื้นทางวิ่งที่ราบเรียบ ไม่ขรุขระหรือมีการสัญจรพลุกพล่าน
8. หาเพื่อนไปวิ่งด้วยหรือเข้ากลุ่ม ชมรมวิ่งต่างๆ จะทำให้การวิ่งมีรดชาดและสนุกมากยิ่งขึ้น

          หลังการวิ่ง
1. ต้องค่อยๆ ปรับให้ร่างกายกลับคืนสู่สภาพปกติโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดอัตราการเต้นของหัวใจด้วยการวิ่งเหยาะๆและเดิน
2. ยืดเหยียดเพื่อคลายกล้ามเนื้อและเล่นกายบริหารในท่าง่ายๆ
3. ดื่มน้ำทีละนิดอย่างช้าๆหลังจากการวิ่งอีก 1 - 2 แก้ว ประมาณ 100 - 300 cc.
4. รับประทานอาหารที่สร้างเสริมสุขภาพครบทุกหมู่
5. ควรหลีกเลี่ยงบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
6. พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการนอนดึกเกิน 4 ทุ่มโดยไม่จำเป็น
7. บำบัดอาการเมื่อยล้าที่อาจเกิดขึ้นจากการซ้อมตามอาการที่เกิดขึ้น
8. บันทึกสถิติการฝึกซ้อมและอัตราการเต้นของชีพจรเป็นประจำทุกวัน
9. เมื่อมีอาการบาดเจ็บ หรืออ่อนเพลียให้หยุดพักทันที

 ที่มา : สมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย โดย สถาวร จันทร์ผ่องศรี
Learn more »