หมากเม่า ผลไม้พื้นบ้าน ขจัดสารพิษ ต้านมะเร็ง
หมากเม่า (หมอชาวบ้าน)
โดย สุภาภรณ์ เลขวัต, อุบลวรรณา ศรีมงคลลักษณ์ ฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
หมากเม่า หรือ มะเม่า ผลไม้พื้นบ้านที่ให้ประโยชน์ได้หลายส่วน เป็นอีกหนึ่งตำรับยาไทยที่คนไทยควรรู้จัก
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Antidesma thwaitesianum Muell.Arg
ชื่อวงศ์ : Euphorbiaceae
ชื่อท้องถิ่น : มะ เม่า ต้นเม่า (ภาคกลาง) หมากเม่า (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) หมากเม้า บ่าเหม้า (ภาคเหนือ) เม่า หมากเม่าหลวง (พิษณุโลก) มัดเซ (ระนอง) เม่าเสี้ยน (ลำปาง) เป็นต้น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2550)
ลำต้น : หมากเม่าเป็นไม้พุ่มต้นสูงประมาณ 5-10 เมตร เป็นไม้พื้นเมืองเนื้อแข็ง แตกกิ่งก้านเป็นจำนวนมาก กิ่งแขนงแตกเป็นพุ่มทรงกลม
ใบ : เป็นใบเดี่ยว สีเขียวสด ปลายและโคนมนกลมถึงหยักเว้า ขอบใบเรียบ ผิวใบเรียบมันทั้ง 2 ด้าน แผ่นใบกว้าง 3.5-4.5 ซม. ยาว 5-7 ซม. แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มักออกใบหนาแน่นเป็นร่มเงาได้อย่างดี
ดอก : ออกเป็นช่อแบบช่อเชิงลด คล้ายช่อพริกไทย จะออกตามซอกใบใกล้ยอดและปลายกิ่ง แยกเพศกันอยู่คนละต้น ยาว 1-2 ซม. ดอกมีขนาดเล็กสีขาวอมเหลือง มักจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน
ผล : ผลหมากเม่ามีขนาดเล็กเป็นพวง ภายใน 1 ผลประกอบด้วย 1 เมล็ด ผลดิบสีเขียวอ่อนหรือเขียวเข้ม มีรสเปรี้ยว พอสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดงและม่วงดำในที่สุด ผลสุกจะมีรสหวานอมเปรี้ยวปนฝาดเล็กน้อย
ระยะเวลาออกดอกและติดผล : ออกดอกและติดผลช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ผลสุกช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน
แหล่งเพาะปลูก
หมากเม่าพบได้ทั่วไปทุกภาคของประเทศไทยมักพบตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และตามหัวไร่ปลายนา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบได้มากที่เทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร นิยมขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง
คุณประโยชน์
ผลมะเม่าสุกมีปริมาณสารอาหาร วิตามิน กรดอินทรีย์ และกรดอะมิโนที่จำเป็นหลายชนิด และเมื่อนำผลมะเม่าสุกมาทำการวิเคราะห์ปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระจำพวกสารแอ นโทไซยานินและสารกลุ่มโพลีฟีนอล พบว่า น้ำมะเม่า 100 กรัม มีสารแอนโทไซยานิน 299.9 มิลลิกรัม และสารโพลีฟีนอล 566 มิลลิกรัม ซึ่งมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง ช่วยขจัดสารพิษออกจากร่างกาย ชะลอความแก่ชรา ลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดอุดตันในสมอง และช่วยยับยั้งไม่ให้ผนังหลอดเลือดเสื่อมหรือเปราะง่ายอีกด้วย
การวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) พบว่าคุณค่าทางด้านโภชนาการของน้ำคั้นจากผลมะเม่า 100 กรัม ประกอบด้วย
สารอาหาร | ปริมาณ |
ไขมัน | 0.77 กรัม |
โปรตีน | 0.19 กรัม |
ความชื้น | 92.7 กรัม |
คาร์โบไฮเดรต | 5.99 กรัม |
เส้นใย | 0.02 กรัม |
วิตามินบี 1 | 0.221 มิลลิกรัม |
วิตามินบี 2 | 0.113 มิลลิกรัม |
วิตามินอี | 0.13 มิลลิกรัม |
แคลเซียม | 126.35 มิลลิกรัม |
เหล็ก | 0.70 มิลลิกรัม |
กากมะเม่าหลังจากการคั้นน้ำยังคงอุดมด้วยสารที่มีประโยชน์ ได้แก่ สารประกอบฟีนอลิก ฟลาโวนอยด์ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังพบว่ามะเม่ามีศักยภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันและมีฤทธิ์ต้านเชื้อเอชไอวี (กัมมาล และคณะ, 2546)
ตำรายาไทย
ใบและผล : ต้มน้ำอาบ แก้อาการซีดเหลือง โลหิตจาง
ใบ : ทาแก้ปวดศีรษะ แก้โรคผิวหนัง ใบสดนำมาอังไฟประคบแก้อาการฟกช้ำดำเขียว
ผล : ทำยาพอก แก้ปวดศีรษะ แก้ช่องท้อง บวม ใช้ผสมน้ำอาบแก้อาการไข้
ต้นและราก : แก้กษัย บำรุงไต ขับปัสสาวะ แก้ตกขาว แก้ปวดเมื่อย
* ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร, 2550 ; วุฒิ วุฒิธรรมเวช, 2540 อ้างอิงโดย สำนักหอสมุดและสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2550
น้ำมะเม่าพร้อมดื่ม
ส่วนผสม
น้ำมะเม่า 2 ถ้วยตวง
น้ำมะนาว 2 ช้อนชา
น้ำผึ้ง 2 ช้อนชา
เกลือป่นเล็กน้อย
ขั้นตอนการทำ
1. นำมะเม่ามาล้างทำความสะอาด คั้นนาและกรองแยกกาก
2. นำส่วนผสมมาผสมให้เข้ากัน ปรับแต่งรสชาติตามชอบ แช่เย็นก่อนดึ่ม